Skip to content

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ มข. ริเริ่ม โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ

โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นโรงพยาบาลระดับตะติยภูมิ โดยให้บริการด้านการรักษาพยาบาลโรคที่มีความซับซ้อนหลากหลายโรคด้วยกัน แก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศใกล้เคียง

ศาสตราจารย์ นพ. ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ กล่าวว่า โดยหนึ่งในการรักษาพยาบาลที่มีความเป็นเลิศคือ  การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะโดยได้เริ่มทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นอวัยวะแรก โดยคนไข้รายแรกได้ทำการผ่าตัดเมื่อเดือน ธันวาคม 2538 และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งพันรายที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตไปแล้ว  และเมื่อปี 2538ยังได้มีการพัฒนาการปลูกถ่ายอวัยวะตับ โดยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับเป็นรายแรก จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ มากกว่าสองร้อยราย  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลการผ่าตัดปลูกถ่ายไตและตับในโรงพยาบาลศรีนครินทร์  ได้มาตรฐานระดับสากล ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถกลับไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไชยสิทธิ์ วงศ์วิภาพร ประธานอนุกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายหัวใจ    ได้กล่าวว่าขณะนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์อยู่เป็นจำนวนมาก  ผู้ป่วยเหล่านี้มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายหัวใจเท่านั้นจึงจะมีชีวิตอยู่รอด และในอดีตที่ผ่านมาผู้ป่วยเหล่านี้ต้องถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในส่วนกลางที่สามารถทำการปลูกถ่ายหัวใจ  ผู้ป่วยยากไร้ที่ไม่สามารถเดินทางไปรับการรักษาจึงต้องเสียชีวิต อย่างน่าเสียดาย นับเป็นการสูญเสียโอกาสของผู้ป่วยอย่างยิ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต วงศ์พุทธะ หัวหน้าอนุสาขาวิชาศัลยกรรมหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก  กล่าวว่า ขณะนี้ทีมศัลยแพทย์และพยาบาลห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีความพร้อมในการเดินทางไปผ่าตัดนำหัวใจออกจากผู้บริจาคอวัยวะสมองตายในโรงพยาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อมีผู้บริจาคอวัยวะสมองตายทีมผ่าตัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์สามารถนำอวัยวะไตและตับเท่านั้น เพื่อมาปลูกถ่ายให้ผู้ที่รอรับในโรงพยาบาลศรีนครินทร์   ส่วนหัวใจต้องรอทีมผ่าตัดจากส่วนกลาง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ต้องสูญเสียหัวใจในกรณีที่ทีมผ่าตัดจากส่วนกลางไม่สามารถเดินทางมาได้ทันท่วงที

รองศาสตราจารย์วิชัย เส้นทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจล้มเหลวและการปลูกถ่ายหัวใจ เลขานุการโครงการปลูกถ่ายหัวใจ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวว่า ความสำคัญของการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจนอกจากจะต้องได้ผู้บริจาคหัวใจที่เหมาะสมแล้ว คือการต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มีจำกัด ซึ่งผลการผ่าตัดจะดี ระยะเวลาที่นำหัวใจออกจากผู้บริจาคอวัยวะมาใส่ให้ผู้รอรับควรจะอยู่ภายในเวลา 4 ชั่วโมงเท่านั้น และการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดและการติดตามการรักษาเมื่อกลับบ้าน ต้องอาศัยแพทย์ผู้มีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งด้วยศักยภาพของทีมโรงพยาบาลศรีนครินทร์มีความพร้อมในการให้บริการการรักษาดังกล่าว

เพื่อเป็นการนำอวัยวะที่ญาติมีความประสงค์บริจาคอวัยวะเพื่อช่วยต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้มากที่สุด และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีโอกาสรอดชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ   ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้ ริเริ่ม โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจขึ้นโดย คาดการณ์ว่าจะเริ่มรับลงทะเบียนผู้รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้ในปี  พ.ศ. 2566 นี้

 

สามารถแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ/บริจาคเงินสมทบกิจกรรม/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
หน่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ชั้น 5 อาคารกัลยาณิวัฒนานุสรณ์
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
หมายเลขโทรศัพท์ 043-363158

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest
Share on whatsapp
Share on email