Skip to content

“ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต น้อง ๆ ตะวันฉาย ครั้งที่ 11” ทีมสหวิทยาการแข็งขันพร้อมสร้างความสมบูรณ์แบบในการดูแลผู้ป่วยครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน สุขภาพ, การศึกษา, การดำรงชีวิต, สังคม และการเสริมสร้างพลังอำนาจ

มูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า ร่วมกับทีมสหวิทยาการ และเครือข่าย ได้จัด โครงการการบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแล ผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้าในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 11 หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า “ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต น้อง ๆ ตะวันฉาย” โดยการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น  ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์ค้ำคูณ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยในวันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ.2566 ได้มีพิธีเปิดโครงการ ณ โรงแรมราชาวดีรีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จ.ขอนแก่น โดย ได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้ง กรรมการมูลนิธิตะวันฉาย บุคลากรทางการแพทย์ ทันตแพทย์ สหสาขาวิชาชีพ และเครือข่ายกิจกรรม อาทิ จิตอาสาบ้านชีวาศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สาขาภาษาอังกฤษสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศูนย์ค้ำคูณ พร้อมทั้งผู้ปกครองและน้องตะวันฉาย 86 ท่าน ร่วมในพิธีเปิดกิจกรรมในครั้งนี้

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ทัศนีย์ วังศรีมงคล ได้รับมอบหมายจาก ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ เป็นผู้กล่าวรายงานต่อท่านประธานในพิธีเปิดโครงการในครั้งนี้

มูลนิธิตะวันฉายฯ ได้จัดโครงการการบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หรือ “ค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตน้องตะวันฉาย” โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง จนครั้งที่ 11 ในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์

  • เพื่อให้บริการที่สมบูรณ์แบบในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า ให้มีความครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ, การศึกษา, การดำรงชีวิต, สังคม และการเสริมสร้างพลังอำนาจ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อย่างบูรณาการ
  • เพื่อให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตนเอง และมีความมั่นใจในการเข้าสังคมมากขึ้น
  • เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตั้งเป้าหมายชีวิต และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้

พิธีเปิดประกอบด้วย กิจกรรม การมอบตำแหน่ง “ทูตตะวันฉาย” พร้อมทุนการศึกษา แก่

1) น.ส.ปัณณฑร จิรัฐพิกาลพงศ์

2) น.ส.จิรภัทร วันฤกษ์

ซึ่งเป็นน้องตะวันฉายซึ่งได้รับเลือก โดยมีเกณฑ์การเข้าร่วมกิจกรรม และการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ของผู้ป่วย ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ที่ถูกต้องแก่สังคม เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต การเรียน การประพฤติตัว แก่น้องตะวันฉายท่านอื่นๆ

และการมอบทุนการศึกษา แก่

นายเมธาพันธ์ โพธิ์มา น้องตะวันฉายผู้มีความประพฤติดี โดยมี นางเครือวัลย์ ชาญนุวงศ์ กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น และกรรมการมูลนิธิตะวันฉาย เป็นตัวแทนมอบทุนการศึกษา

โครงการในครั้งนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 2 วัน 1 คืน ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2566 มีผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ คือ น้องตะวันฉาย อายุ 7-18 ปี จำนวน 38 คน และครอบครัวน้องตะวันฉาย จำนวน 48  คน ทีมวิทยากร และเจ้าหน้าที่ จำนวน 30 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมสำหรับน้อง ๆ ตะวันฉายฯ และครอบครัว ดังนี้

  • การประเมินภาพลักษณ์ใบหน้า เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่ยังคงเหลือให้ใกล้เคียงปกติ โดยทีมศัลยแพทย์ตกแต่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • การตรวจประเมินสุขภาพช่องปากและการจัดฟันที่ต่อเนื่อง โดยทีมทันตแพทย์จัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • การเสริมพลังเชิงบวก โดยอาจารย์และนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • การรู้จักและเข้าในตนเอง เพื่อสร้างความสุข โดยนักจิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • การสร้างสุขภาวะที่ดี การวางแผนครอบครัว และเพศสัมพันธ์ โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีนครินทร์
  • การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงดูน้องตะวันฉาย

และกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ และการเรียนรู้ ได้แก่

  • ทักษะภาษาอังกฤษ โดยจิตอาสา สาขาภาษาอังกฤษสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น
  • การดูแลผู้พิการ อาชีพนักบริบาลชุมชน และการปลูกกล้าไม้ชนิดต่าง โดยผู้ก่อตั้งและเจ้าหน้าที่ศูนย์ค้ำคูน
  • และกิจกรรมวิทยาศาสตร์ โดยเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น